อายุยิ่งเยอะ น้ำหนักยิ่งขึ้น อันตรายต่อร่างกายมากแค่ไหน ?

อายุยิ่งเยอะ น้ำหนักยิ่งขึ้น อันตรายต่อร่างกายมากแค่ไหน ?


ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมาเรื่อยๆ จนถึงวัยทำงานแล้วน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณอาจเสี่ยงอันตรายแล้วล่ะ

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุเอาไว้ในบทความว่าด้วยเรื่อง “จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย ถ้าน้ำหนักไต่ขึ้นทุกปี!” ในเฟซบุ๊ก Pleasehealth Books เอาไว้ดังนี้

“ปกติแล้วเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว หรือเริ่มเข้าสู่เลขสาม น้ำหนักของคนเราอาจจะขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.5-1 กิโลกรัม จากปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งการเผาผลาญที่ลดลง มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง 

และรวมถึงเวลาในการออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลงหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การไต่เพิ่มขึ้นของน้ำหนักทีละน้อยในวัยกลางคนนี้ จะส่งผลถึงสุขภาพที่แย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น

หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจมาจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันราว 120,000 คน โดยนักวิจัยได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างตอนอายุ 55 ปี และถามย้อนถึงน้ำหนักในวัยรุ่น (อายุ 18 ปีสำหรับผู้หญิง และ 21 ปีสำหรับผู้ชาย) เพื่อดูว่าเป็นกลุ่มที่น้ำหนักคงที่ (เพิ่มหรือลดจากวัยรุ่นไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม) 

หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น (เกินกว่า 2.5 กิโลกรัม) แล้วตามดูสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดต่อไปอีกเป็นเวลา 15-18 ปี เพื่อประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสุขภาพของคนสองกลุ่ม

ผลวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่น้ำหนักคงที่ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน มีอัตราการเกิดโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็งที่สัมพันธ์กับความอ้วน (เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี รังไข่ ฯลฯ) น้อยกว่าคนที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากวัยรุ่นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากการที่น้ำหนักเพิ่มจะส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคแล้ว ยังส่งผลถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายด้วย โดยมีการประเมินวัดสภาพว่ากลุ่มตัวอย่าง มีความถดถอยทางการทำงานของสมองและความฟิตของร่างกายหรือไม่ พบว่ากลุ่มที่น้ำหนักตัวเพิ่ม มีแนวโน้มจะถดถอย (หรือพูดง่ายๆว่าแก่) มากกว่ากลุ่มที่น้ำหนักตัวคงที่

สรุปได้ว่า การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถ้าทำได้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ชะลอความแก่ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ได้”

นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับใครที่น้ำหนักขึ้นทุกๆ ปี ขอให้ค่อยๆ ปรับอาหารอย่างถูกวิธี เน้นรับประทานแป้งเชิงซ้อน โปรตีนดี ไขมันดี ผักผลไม้ เลี่ยงน้ำตาล แป้งขัดขาว ของทอด และเนื้อแปรรูป หมั่นออกกำลังทั้งแบบแอโรบิกและสร้างกล้ามเนื้อ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ก็ช่วยให้มีร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรง ลดโรคอันตรายไปได้มากมาย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เลือดกำเดาไหล ห้าม “เงยหน้า” จริงหรือไม่?

สิ่งของ และ สถานที่ เมื่อสัมผัสแล้วควรล้างมือทันที

ประโยชน์ของไข่ "ไข่" กินอย่างไรให้เหมาะกับอายุของตัวเอง